วันพุธที่ 22 พ.ค. 2567 เป็นวันที่สอง ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน พวกเราชาวนิสิตปริญญาเอก หลักสูตร CUTIP รุ่น 15 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าศึกษาดูงาน ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสต็อกโฮล์ม (Facebook Royal Thai Embassy Stockholm) เรามีรับฟังเนื้อหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึง 2 session หลักสูตรต้องขอขอบคุณสถานทูตไทยที่ช่วยเอื้อเฟื้อด้านสถานที่ให้เราเข้าใช้
ในช่วงแรก เราพบกับคุณ Kjell Hakan Narfelt ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการนวัตกรรม จากองค์กร Vinnova มาช่วยอธิบายความเป็นมาเกี่ยวกับประเทศ Sweden ว่าสามารถผลักดันนวัตกรรมในประเทศของเขาได้อย่างไร ประเทศที่มีคนประมาณ 10 ล้านคน (หรือเพียง 1 ส่วน 6 ของประเทศไทย) อากาศหนาวเหน็บกว่า 4 เดือนใน 1 ปี เวลาเฉลี่ย ในการทำงาน เพียง 6ชั่วโมงต่อวัน หรือ 35ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เขามีเคล็ดลับอย่างไร ที่สามารถผลักดันให้มีนวัตกรรมหลากหลาย มี Unicorn หลายสิบตัว (อย่างเช่น Spotify) ออกจากประเทศเขา รัฐมี Framework ในการสนับสนุนอย่างไร ประชาชนและคนรุ่นใหม่ มองเกี่ยวกับการทำ startups อย่างไร เราใช้เวลากว่า 2ชั่วโมงครึ่ง พูดคุยแลกเปลี่ยน และสอบถามคุณ Hakan อย่างเต็มที่ ถือว่าเป็น session ที่ได้รับความรู้และมุมมองใหม่ๆมากเลยทีเดียว
ในช่วงที่สอง เราได้รับข้อมูล และทำความรู้จักกับ Virtual Unit ชื่อ TNIU Thailand and Nordic Countries Innovation Unit ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งและกำกับดูแลโดย 4 สถานทูต ได้แก่ Copenhagen, Helsinki, Oslo และ Stockholm โดยเป็นความคิดริเริ่มของสถานทูตในภูมิภาคนี้เองในการจัดตั้ง Virtual Unit นี้ขึ้นมา เนื่องจากสถานทูตทั้ง 4 แห่งเห็นจุดเด่นและความเชี่ยวชาญของประเทศเหล่านี้ ทั้งในด้านความยั่งยืน (Sustainability), นวัตกรรม (Innovation) และความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) นอกจากนั้น ชาวนอร์ดิกต่างมีพื้นฐานแนวคิดที่ชัดเจนที่อยู่ในสายเลือด คือการสร้างประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติโดยใช้นวัตกรรมนำการพัฒนาประเทศ สถานทูตไทยทั้ง 4 แห่งเห็นว่าจุดเด่นเหล่านี้สอดคล้องกับสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ ซึ่งหากไทยต้องการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดเพื่อสามารถตอบโจทย์ความท้าทายโลกปัจจุบัน ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) รวมถึงการปรับเปลี่ยนโมเดลรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model ทุกภาคส่วนของไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทัน โดยเฉพาะการได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมเพื่อนำมาพัฒนาประเทศต่อไป
TNIU ถือว่าเป็นองค์กรน้องใหม่ ก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อเปิดโอกาสให้สถานทูตฯ ได้อำนวยความสะดวกหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย ที่ต้องการมาศึกษาดูงานด้านนวัตกรรม ให้สามารถได้เข้าพบและดึงนำองค์ความรู้จากบริษัทในภูมิภาคนอร์ดิกมาปรับใช้ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ Start Up ไทย สามารถสร้างระบบนิเวศภายในบริษัทให้สามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดดสู่ประเทศภายนอกประเทศได้ และดึงให้บริษัทในภูมิภาคนอร์ดิกมาลงทุนในประเทศไทย ตามสาขาที่บริษัทดังกล่าวสนใจ ซึงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า TNIU ได้จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมมากมาย เช่น การจัดทำ Matching ระหว่างหน่วยงานไทยและหน่วยงานสวีเดน เพื่อให้หน่วยงานไทยได้เข้าถึงและได้รับองค์ความรู้ตามสาขาที่ต้องการเพื่อนำไปต่อยอด โดยล่าสุดมีหน่วยงานได้ประโยชน์จากการดูงานเรื่องการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยได้แนวคิด “การตัดไม้แต่ได้ป่า” ผ่านการใช้นวัตกรรม การใช้ประโยชน์จากไม้สูงสุด การนำองค์ความรู้ไปพัฒนาพันธุ์ไม่ไทยที่ทนต่อแมลงและปลวก เป็นต้น
นิสิตปริญญาเอกหลักสูตร CUTIP รุ่น 15 เมื่อได้มีโอกาสในการรู้จัก Virtual Unit ดีๆ อย่าง TNIU แล้ว ก็ต้องรู้จักต่อยอดเพื่อนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมสมัยใหม่ไปใช้และคิดให้เกิดเป็นรูปธรรม หามุมมองนำไปพัฒนาประเทศต่อไป ใครที่อยากรู้จัก TNIU เพิ่มเติม ติดตามได้ที่นี่เลย https://tniu-rte.org/
หลักสูตร CUTIP ขอกราบขอบคุณพระคุณ ท่านเอกอัครราชทูต อรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส คุณณธัช ธรรมานุรักษ์ และทีมงานสถานทูตไทย ณ กรุงสต็อกโฮล์ม อย่างสูง อีกครั้งที่เอื้อเฟื้อสถานที่ และเวลา รวมถึงความตั้งใจที่อยากจะผลักดันอะไรใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยอีกครั้งครับ
#cutipphd15 #cutipphd #innovations #InnovationThailand
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 22/05/2024